หน้าเว็บ

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิธีทำศพแบบ ทิเบต เลือดเนื้อเพื่อสัตว์โลก


การทำศพของชาวทิเบต หรือ Sky Burial มีหลาย ๆ จุดที่จะได้ว่าเคยรับรู้ และเคยเห็นภาพมาและไม่เหมือนกัน เช้านี้ก็เลยกลับไปค้น และนำมาเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจ และสำหรับผู้ที่ตรงการใช้เป็นธรรมคติ มรณานุสติ ในการปลดปลงชิวิคและใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยความไม่ประมาทต่อไป
ประชากรส่วนใหญ่ของทิเบตนับถือ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน คติความเชื่อเรื่องความตาย ไม่แตกต่างจากความเชื่อของชาวไทยพุทธ เพียงแต่ พิธีกรรมเกี่ยวกับศพ และความตาย แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ และข้อจำกัดบางประการเท่านั้น




ความตาย สำหรับชาวทิเบตแล้ว หมายถึง การไปเกิดใหม่ของคน ๆ นั้น แม้ร่างกายจะสลายไปแล้ว แต่ดวง วิญญาณจะไม่มีวันตาย ความตายเป็นสัจจธรรม และเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงระลึกถึงอยู่เสมอ เพื่อความไม่ประมาท ในการใช้ชีวิต รวมทั้งเร่งทำความดีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คนทิเบตให้ความสำคัญกับ “สภาวะจิตขณะ หรือใกล้ จะตาย” เช่นเดียวกัน โดยเชื่อว่าสภาวะจิตดี ที่ชัดเจน ผ่องใสจะนำผู้ตายไปเกิดในที่ ๆ ดี แจ่มใส สะอาด สว่าง แต่ถ้าจิตใจไม่ดี ก็จะต้องพบกับความมืด หรือไปในที่ ๆ ไม่ดี
สำหรับคนป่วยที่ใกล้จะตายก็จะมีพิธีกรรมบางอย่างเช่นกัน โดยจะมีการนิมนต์พระ (เรียกว่า ลามะ Lama) มานำทางผู้ตาย และเพื่อปลดปล่อยจิตวิญญาณของผู้ตายให้เป็นอิสระจากร่างกายนั้น ชาวทิเบตเชื่อว่า จิตวิญญาณจะออกจาก ร่างกายทันทีที่คน ๆ นั้นเสียชีวิตลง
จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเก็บรักษาร่างกายที่ไร้วิญญาณนั้นไว้อีกต่อไป และพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ หรือร่างกายที่เหลืออยู่ของผู้ตายที่นิยมกันก็คือ การทำกุศลครั้งสุดท้ายด้วยการอุทิศ ร่างกายนั้นเป็นอาหารแก่นกแร้ง (คล้ายกับพวกเอสกิโม ที่จะอุทิศร่างกายให้เป็นอาหารของสัตว์ป่า )
อันที่จริงแล้ว พิธีกรรมการจัดการศพของชาวทิเบต มีอยู่ ๓ วิธีหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
๑. พิธีศพทางฟากฟ้า
๒. พิธีเผาศพ และ
๓. พิธีศพทางน้ำ
อย่างไรก็ตามราว ๘๐% ของชาวทิเบตนิยม พิธีศพทางฟากฟ้า ทั้งนี้เพราะนอกจากจะเป็นประเพณีที่ทำติดต่อกันมา นานนับ ๑๐๐๐ ปีแล้ว และยังมีความเชื่อกันว่า ด้วยวิธีการนี้เท่านั้นที่จะสามารถส่งให้วิญญาณของผู้ตายให้ เกี่ยวพันใกล้ชิด กับการบูชาพระพุทธเจ้าในพื้นที่เทืองเขาหิมาลัยได้ รวมทั้งเป็นการทำกุศลครั้งสุดท้ายของผู้ตาย อีกด้วย

นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว เหตุผลที่พิธีศพแบบนี้ยังคงมีการทำกันอยู่ แม้ทางรัฐบาลจีนจะพยายาม ห้ามปราม รวมทั้งให้งบประมาณในการจัดสร้างเตาเผาศพแล้วก็ตาม เนื่องมาจาก ข้อจำกัดในด้านภูมิประเทศและอากาศ ภูมิประเทศของทิเบตเกือบทั้งหมดเป็นเทือกเขาสูง อากาศหนาวเย็น มีพื้นที่ราบน้อย เนื้อดินแข็ง การฝังศพ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เพราะไม่สามารถขุดดินให้ลึกพอ ในขณะที่ไม้ฟืน เป็นของหายาก และมีค่ามาก ปัจจุบันการเผา จึงเป็นพิธีกรรมที่สงวนไว้สำหรับพระ คนสำคัญ และคนรวยเท่านั้น
พิธีศพทางฟากฟ้า ปัจจุบันกลาย เป็นพิธีกรรมเฉพาะของทิเบตเท่านั้น โดยมีสถานที่จัดทั่วประเทศราว ๑,๐๗๖ แห่ง ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูง บุคคลที่มีความสำคัญต่อพิธีกรรมนี้ เรียกว่า “ดอมแด” หรือ สัปเหร่อนั่นเอง นอกจากดอมแด จะทำหน้าที่จัดการศพ และประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แล้ว เขายังมีหน้าที่ในการฝึกนกแร้งที่จะมา กินศพอีกด้วย จนอาจกล่าวว่า การฝึกนกแร้งเลยกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของทิเบตเหมือนกัน

นกแร้งที่เป็นจ่าฝูงจะเป็นตัวที่มีประสบการณ์ และได้รับการฝึก มีลูกน้อง คือ นกแร้งรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้อยู่ใน ระเบียบวินัย และมักแตกแถวยื้อแย่งกินศพ ซึ่งจ่าฝูงต้องคอยจัดการให้อยู่ในวินัย ตามที่ตนได้เคยฝึกมากับดอมเด ความสัมพันธ์ระหว่างดอมเดกับนกแร้งที่เป็นจ่าฝูง จึงเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่ง
ดอมเด จะมีภาษาที่ใช้กับ นกแร้งโดยเฉพาะ ทั้งภาษาพูด และภาษากาย ที่จะคุ้นและสื่อกันได้ด้วยอาศัยความสัมพันธ์ที่ยาวนาน ดอมเด มีความสามารถในการฝึกนกแร้งมากเท่าใด นกแร้งก็จะมีระเบียบวินัยมากเท่านั้น ดอมแดคนใดขาดความชำนาญ หรือไม่เห็นสาระ หรือความหมายทางจิตวิญญาณในการจัดการศพแบบนี้ จนทำให้ไม่เห็นความสำคัญของการ ฝึกปรือนกแร้งจ่าฝูง ผลก็คือ นกแร้งจะลงเป็นฝูงเพื่อจิก และยื้อแย่งกันกินศพทันทีที่เปิดผ้าห่อศพ

โดยที่ดอมแด ยังไม่ทันได้ทำพิธีการส่งวิญญาณผู้ตาย (เรียกว่า “พิธีโพวา”) หรือถลกหนังศีรษะผู้ตายเพื่อตรวจดูลักษณะ กะโหลกศีรษะว่ามีรูหรือไม่ เพื่อตรวจว่าผู้ตายจะได้ไปในที่แบบใด ดอมแดที่เคยเป็นผู้กำความลับของผู้ตายว่าการ ส่งวิญญาณสำเร็จหรือไม่ ก็ดูจะหมดความหมายไป
สำหรับนกแร้งจ่าฝูงที่มีประสบการณ์ เมื่อดอมเดให้ชิมเนื้อศพ หากศพใดใช้ยา หรือถูกยาพิษมา จะเป็นอันตราย จ่าฝูงจะไม่กิน นกแร้งทั้งฝูงก็จะไม่กินศพนั้น ดอมแด ก็จะกลับไปหาวิธีกำจัดศพวิธีอื่นแทนเช่น เผา กรณีหาก นกแร้งจ่าฝูงไม่มีประสบการณ์พอ ก็อาจทำให้นกแร้งทั้งฝูงตายได้เหมือนกัน
ดังกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ นี้เอง ที่วัดโพลุงกา หลังจากที่นกแร้งจัดการกับศพที่ตายเพราะกินยาฆ่าหนูแล้วนกแร้งทั้งฝูงประมาณ ๑๐๐ ตัว ก็ตายหมด เป็นผลทำให้ต่อจากนั้นที่วัด ต้องซักประวัติของผู้ตายให้ละเอียดว่า หากโดนยาพิษหรือรักษา ด้วยยามาเป็นเวลานาน วัดก็จะยกเว้นไม่กำจัดศพโดยให้เป็นอาหารแก่นกแร้ง เพราะจะหวังพึ่งแต่ประสบการณ์ ของจ่าฝูงต่อไปไม่ได้แล้ว
พิธีกรรมทางฟากฟ้านี้ ปกติจะทำกันบนยอดเขา และไม่อนุญาตให้คนนอกร่วมพิธี หรือถ่ายรูปด้วยหากไม่ได้ รับเชิญจากญาติเป็นพิเศษ หรือแม้แต่ญาติผู้ตายเอง ในขณะที่ดอมแดจัดการศพให้นกแร้งกิน ก็ต้องนั่งอยู่ห่างออก ไปราว ๑ กิโลเมตร หลังจากญาติผู้ตายนำศพมาจากบ้านเพื่อมาเวียนรอบโบสถ์ที่วัด ๓ รอบแล้ว (ปกติ วัดที่ทำ พิธีมักอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปหลายสิบ หรือหลายร้อยกิโล
การนำศพเดินทางมาทำพิธีจึงมักต้องใช้ค่าใช้จ่าย และใช้เวลาไม่น้อย) เฉพาะญาติ และดอมแดจะช่วยกันแบกศพขึ้นไปบนสถานที่ทำพิธีบนยอดเขา ดอมแดจะ จัดการแร่เนื้อศพออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วใช้ฆ้อนทุบกระดูกจนแตกละเอียด โดยจะจัดการกับหัวเป็นส่วนสุดท้าย เพื่อเปิดหนังหัวตรวจดูว่าผู้ตายจะได้ไปในที่ดีหรือไม่ดี ซึ่งดอมแดจะเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับคนเดียว
จากนั้น จึงส่งเนื้อชิ้นแรกให้นกแร้งจ่าฝูงกิน เมื่อจ่าฝูงอนุญาตนกแร้งทั้งฝูงก็จะรุมกันกินศพทั้งหมดโดยไม่เหลือชิ้นส่วนใด ๆ ไว้เลย เสื้อผ้าของผู้ตายจะถูกนำไปเผา ทั้งนี้เพื่อญาติพี่น้องจะไม่ต้องเก็บชิ้นส่วนใดของผู้ตายไว้ให้เกิด ความอาลัยอีก ด้วยชาวทิเบตเชื่อว่า ในขณะที่พวกเขายังมัวเศร้าโศรกเสียใจอยู่นั้น ผู้ตายก็ไม่ได้รับรู้ใด ๆ แล้ว หรืออาจไปเกิดใหม่แล้วก็เป็นได้
สาเหตุที่ชาวทิเบตเลือกที่จะอุทิศร่างกายเป็นครั้ง สุดท้ายให้นกแร้ง แทนที่จะเป็นสัตว์ชนิดอื่น นอกจากนกแร้งเป็น สัตว์ประเภทที่ไม่มีความสามารถในการล่าเหยื่อเอง และต้องคอยกินซากศพเป็นปกติอยู่แล้ว พวกเขายังเชื่อว่า นกแร้งเป็น สัตว์พิเศษ ที่สามารถนำพาเอาร่างกายของผู้ตายไปสู่สวรรค์ได้ด้วย เนื่องจากชาวทิเบตไม่เคยเห็นซาก นกแร้งแก่ที่นอนตายบนพื้นเลย เลยเชื่อว่า นกแร้งแก่จัด ที่ตาไม่ดีแล้ว มันจะบินขึ้นไปบนฟ้าให้สูงที่สุดจนถูก แดดแผดเผาหายไปบนฟ้านั้นเอง (จริง ๆ แล้วเป็นไปได้ว่า ถูกนกแร้งตัวอื่นกินจนหมดมากกว่า)

พิธีเผาศพ ดังกล่าวมาแล้วว่า ไม้เป็นของหายาก และมีค่ามากสำหรับประเทศทิเบตที่มีภูมิประเทศ เป็นภูเขาสูง และอากาศหนาวเย็น ดังนั้นการเผาจึงค่อนข้างเกินเอื้อมสำหรับประชาชนธรรมดา คนมีเงิน บุคคลสำคัญของ ประเทศ หรือพระรูปสำคัญ ๆ เท่านั้นที่จะใช้วิธีนี้
พิธีศพทางน้ำ เป็นพิธีของชาวบ้านที่ค่อนข้างยากจน ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือเคลื่อนย้ายศพไปทำพิธี ที่วัดบนยอดเขา โดยชาวบ้านจะนำศพผู้ตายมาหั่นกันเองให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อโยนลงแม่น้ำอุทิศให้เป็นอาหาร ของปลา ดังนั้น ชาวทิเบตจึงไม่บริโภคเนื้อปลา เพราะถือว่าเป็นสัตว์ที่เป็นพาหนะนำวิญญาณไปยังโลกแห่งความตาย
ในเรื่องของศาสนาพุทธก็มีเรื่องเล่าว่าพระศกยมุนี พระพุทธเจ้า ว่าพระองค์ได้เคยเฉือนเนื้อตนเองให้เป็นทานแก่พญาเหยี่ยวเพื่อช่วยชีวิตนกพิราบเหมือนกัน
บางตำนานก็ว่า เป็นการสืบทอดกันมา เนืองจากในกาลครั้งหนึ่งเจ้าชายผู้ปกครองอาณาบริเวณแถบนี้ เมื่อออกไปรบ ได้สั่งเสียไว้กับผู้ที่อยู่ข้างหลังว่า ไม่ต้องเก็บศพพระองค์กลับมา ให้ปล่อยให้เป็นอาหารแก่นกกา สัตว์ป่าได้ดำรงค์ชีวิต
ชาวธิเบตจึงถือปฏิบัติกันเรื่อยมา แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้อ่านแนวคิด และเห็นภาพแล้ว หวังว่าทุกท่านคงได้ข้อคิดของการมีชีวิต และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยความไม่ประมาท ชีวิตคนเรานั้น เมื่อตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้จริง ๆ เป็นแต่เพียงซากเน่าเหม็นผุผัง จะได้เป็นประโยชน์สักหน่อยก็เป็นได้เพียงแค่อาหารสัตว์ป่า นกกา