หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อภิชฌา

           เจตนาเป็นเหตุละโมบ ในเมื่อเห็นสิ่งของ ๆ ผู้อื่นแล้ว เพ่งเล็ง โดยน้อมเข้ามาหาตนว่า ทำอย่างไรหนอ ? ของนี้จะพึงเป็นของเรา ชื่อว่า อภิชฌา ที่ถึงความเป็นกรรมบถ แต่ถ้าเห็นสมบัติของคนอื่นแล้ว ไม่คิดเอามาเป็นของตน เพียงแต่ยินดีว่า ผู้ใช้สอยสมบัติเช่นนี้มีบุญหนอ เราควรได้ใช้สอยสักชั่วคราว หรือว่า เราควรได้รับของเช่นเดียวกันนี้ อย่างนี้ เป็นเพียงกรรมเท่านั้น ไม่ถึงกรรมบถ สมกับคำของ      พระอรรถกถาจารย์ว่า แม้ความโลภจะเกิดขึ้นในสมบัติของผู้อื่น ก็ยังไม่จัดเป็นกรรมบถ ตลอดเวลาที่ยังไม่น้อมเข้ามาเป็นของตนว่า ไฉนหนอ ? ของนี้พึงเป็นของเรา

อภิชฌา จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ

๑. สิ่งของ ของบุคคลอื่น
๒. การน้อมมาเพื่อเป็นของตน


อภิชฌานั้นมีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ

๑. สิ่งของที่เพ่งเล็งมีค่ามาก
๒. เจ้าของมีคุณมาก
๓. ผู้เพ่งเล็งมีกิเลสแรงกล้า


อารมณ์ภายนอกเป็นเหตุเกิดอภิชฌาได้
ดังนิทานเรื่องนี้เป็นต้น
          มีเศรษฐีใหม่คนหนึ่ง ได้รับมรดกหลังจากบิดามารดาถึงแก่กรรม ผู้รักษาเรือนคลังของเศรษฐีนั้น ได้เปิดห้องสำหรับเก็บทรัพย์แจ้งจำนวนให้ทราบว่า ทรัพย์ของบรรพบุรุษ มีปู่เป็นต้น มีจำนวนเท่านี้ ของบิดาท่านมีจำนวนเท่านี้ เศรษฐีใหม่ดูทรัพย์เหล่านั้นแล้ว ถามว่า ทำไม บรรพบุรุษของเรา จึงไม่นำเอาทรัพย์เหล่านี้ไปด้วย ? ผู้รักษาเรือนคลังตอบว่า เจ้านาย ไม่มีใครสามารถถือเอาทรัพย์ไปปรโลกได้หรอก สัตว์ทั้งหลายพาเอาไปได้แต่บุญกับบาปที่ตนทำไว้เท่านั้น
เศรษฐีใหม่คิดว่า บรรพบุรุษของเรา สะสมทรัพย์สินเงินทองเอาไว้มากมายมหาศาล ที่สุดก็ทิ้งเอาไว้ให้คนอื่น เพราะความโง่แท้ ๆ ส่วนเราจะเอาทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นไปให้หมด จึงสั่งให้สร้างคฤหาสน์หรูราคาแพง สร้างปะรำสำหรับรับประทานอาหาร เพื่อประกาศความร่ำรวย ให้ชาวเมืองได้เห็น  
การรับประทานอาหารแต่ละมื้อใช้จ่ายมาก มีทั้งอาหาร สาวงามคอยปรนนิบัติขับกล่อม โดยเฉพาะในวันเพ็ญ ได้จ่ายทรัพย์เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นค่าอาหาร จ้างคนไปประกาศให้ชาวเมืองมาดูการรับประทานอาหารของตน ประชาชนได้พากันมาดูเป็นจำนวนมาก

ในที่นั้น มีคนยากจน ๒ คน เป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งอยู่ในเมือง คนหนึ่งอยู่บ้านนอก มีอาชีพหาฟืนขาย พอเศรษฐีเปิดภาชนะบรรจุอาหาร กลิ่นของอาหารหอมฟุ้งตลบไปทั่ว จนชาวบ้านนอกคนนั้น เกิดความอยากจะรับประทาน อดใจไว้ไม่อยู่ เพราะตั้งแต่เกิดมา อย่าว่าแต่ได้รับประทานเลย แม้แต่กลิ่นอย่างนี้ ก็ไม่เคยได้รับ จึงบอกแก่เพื่อนว่า เพื่อนเอ๋ย เราอยากกินอาหารนั้นเหลือเกิน เพื่อนจึงตอบว่า อย่าปรารถนาเลยเพื่อน เราทำงานไปตลอดชีวิต ก็ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารอย่างนี้ เขาขอร้องว่า เพื่อนเอ๋ย ถ้าไม่ได้กินอาหารนี้ต้องตายแน่ เมื่อไม่สามารถห้ามได้ จึงตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า นายครับ ผมไหว้ท่าน ขออาหารในถาดให้เพื่อนผมกินสักคำเถิด เศรษฐีตอบว่า ไม่ได้ จึงหันมาถามเพื่อนว่า ท่านได้ยินเศรษฐีพูดไหม ? เขาตอบว่า ได้ยินแล้ว แต่ก็ยังยืนยันว่า ถ้าไม่ได้รับประทานอาหารนี้ ต้องตายแน่ ท่านขอรับ เพื่อนของผมบอกว่า ถ้าเขาไม่ได้อาหาร ชีวิตของเขาต้องตายแน่นอน เขาจึงบอกเศรษฐีอีกว่า โปรดให้ชีวิตแก่เขาเถิด ได้รับคำตอบว่า อาหารนี้ราคาแพงมาก ถ้าคนอื่นมาอ้างเหมือนเพื่อนของแก ฉันจะเอาที่ไหนมาให้ ถ้าเพื่อนของแกอยากจะกินอาหารจานนี้จริง ๆ ต้องทำงานในบ้านฉัน ๓ ปี ในที่สุดชาวบ้านนอกคนนั้น ก็ยอมทิ้งครอบครัว มาทำงานในบ้านเศรษฐี ๓ ปี เพื่อแลกข้าวจานเดียว
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้อย่างรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากสิ่งล่อใจภายนอก ชาวบ้านนอกคนนั้น มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยความอดอยากยากจนมานานแล้ว เมื่อไม่ได้เห็นความหรูหรา ไม่ได้ลิ้มรสอาหารดี ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อได้มาเห็นความหรูหรา และได้กลิ่นอาหารดี ๆ ของเศรษฐี จึงเกิดความอยากได้อย่างรุนแรง ถึงกับเอาชีวิตเข้าแลก สมกับคำที่นักปราชญ์สอนเอาไว้ว่า ระหว่างอารมณ์กับยาพิษ อารมณ์มีพิษร้ายแรงกว่ายาพิษ เพราะยาพิษต้องกินเข้าไปมันถึงจะฆ่าชีวิตได้ แต่อารมณ์แค่คิดถึงก็ทำให้คนเราถึงตายได้ ดังนั้น คนเราจะทำอะไรก็ตาม ควรคิดถึงจิตใจของคนอื่นบ้าง อย่าเอาทรัพย์สมบัติ หรือสังขารร่างกายของเราไปอวดสาธารณชน จนคนอื่นเกิดความอยากได้อย่างรุนแรง เป็นเหตุนำภัยอันตรายมาสู่ตัวเองได้...