หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

พยาบาท

    
เจตนาเป็นเหตุปองร้าย คือ การคิดกระทำให้ผู้อื่นประสบความพินาศ
ชื่อว่า พยาบาท
         
          ความคิดปองร้าย ของผู้มุ่งจะทำร้ายชีวิตของสัตว์อื่น ตั้งแต่มดและยุง ไปจนถึงมนุษย์ว่า ขอให้สัตว์เหล่านี้จงพินาศ จงวิบัติ ทำอย่างไรหนอ ? สัตว์เหล่านี้ พึงพินาศ พึงวิบัติ ไม่พึงเจริญรุ่งเรือง ไม่พึงมีชีวิตอยู่ได้นาน ดังนี้ จัดเป็นกรรมบถ ส่วนความโกรธที่ไม่คิดป้องร้ายผู้อื่น เป็นเพียงกรรมเท่านั้น สมกับคำพระอรรถกถาจารย์ว่า แม้ความโกรธที่มีสัตว์อื่นเป็นเหตุเกิดขึ้น ก็ไม่ล่วงกรรมบถ ตราบใดที่ยังไม่คิดปองร้ายเขาว่า ทำอย่างไรหนอ ? ผู้นี้จะพึงพินาศตายไป

พยาบาท จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ

๑. มีสัตว์อื่น
๒. คิดจะให้สัตว์นั้นถึงความพินาศ


พยาบาท มีโทษมาก เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ

๑. ผู้ที่ถูกปองร้ายมีคุณมาก
๒. ผู้ปองร้ายมีกิเลสรุนแรง

เกิดความพยาบาทเพราะความคิด ๑๐ ประการ
ความพยาบาทย่อมเกิดเพราะความคิด ๑๐ ประการ คือ เพราะคิดว่า

๑. เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา
๒. เขากำลังประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา
๓. เขาจะประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา
๔. เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รัก ที่พอใจของเรา
๕. เขากำลังประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รัก ที่พอใจของเรา
๖. เขาจะประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รัก ที่พอใจของเรา
๗. เขาได้บำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
๘. เขากำลังบำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
๙. เขาจะบำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
๑๐. บุคคลบางคนย่อมโกรธโดยไม่มีเหตุผล


ความพยาบาทนั้น นอกจากจะทำลายประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ยังทำลายตัวเองอีกด้วย ดังเรื่องที่พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ ในอรรถกถาธรรมบทว่า...
          

    มีเศรษฐีคนหนึ่ง เก็บเอาเด็กทารกที่มารดาเอาไปทิ้งไว้ ในกองขยะ มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เพราะเชื่อโหราศาสตร์ว่า เด็กที่เกิดมาในช่วงระยะวันเดือนนั้น จะมีวาสนาดี ได้เป็นเศรษฐี พอดีภรรยาของเขา ก็จะคลอดในช่วงเวลานั้นด้วย คิดว่า ถ้าภรรยาคลอดทารกออกมาเป็นหญิง ก็จะให้แต่งงานกับเด็กคนนั้น ถ้าคลอดออกมาเป็นชาย ก็จะฆ่าเด็กนั้นทิ้งเสีย เผอิญภรรยาคลอดทารกออกมาเป็นชาย จึงคิดจะฆ่าเด็กนั้น ตามความพยาบาทข้อที่ ๖ ว่า เขาจะประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รัก ที่พอใจ ของเรา

เศรษฐีพยายามฆ่าเด็กนั้น ตั้งแต่ยังเป็นทารกแบเบาะ จนถึงโตเป็นหนุ่มถึง ๕ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ เอาไปวางไว้ที่ประตูคอกโค ซึ่งมีโคหลายร้อยตัวที่จะเดินแออัดแย่งกันออกจากคอกแล้วเหยียบเด็ก แต่ปรากฏว่า โคตัวจ่าฝูงไปยืนกันเด็กเอาไว้ จนโคออกจากคอกหมด ทำให้เด็กรอดตายในครั้งนั้น

ครั้งที่ ๒ เอาไปวางไว้ที่ทางเกวียน เวลากลางคืน เพื่อให้หมู่เกวียนที่นำสินค้าไปขาย หลายร้อย หลายพันเล่ม ทับเด็กตาย แต่โคที่ลากเกวียนเล่มหน้าสุด เดินไปถึงที่นั้น ได้สลัดแอกทิ้ง ไม่ยอมลากเกวียนต่อไป เจ้าของเกวียนลงไปจัดการกับโค ได้พบเด็กเข้า จึงนำไปคืนให้เศรษฐี

ครั้งที่ ๓ เอาเด็กไปทิ้งในป่าช้าผีดิบ เพื่อให้สัตว์ร้าย และอมนุษย์ที่มาหากินในเวลากลางคืนทำร้ายเด็ก แต่ก็ไม่มีสัตว์ร้ายอะไรทำร้ายเด็กได้ จนมีคนมาพบแล้วนำไปคืนเศรษฐี

ครั้งที่ ๔ นำเอาเด็กไปโยนเหว แต่ปรากฏว่าเด็กตกไปค้างอยู่บนยอดพุ่มไม้ ซึ่งมีเถาวัลย์สอดประสานกันอย่างหนาแน่น จึงไม่เป็นอันตราย จนมีคนไปพบแล้วนำไปคืนเศรษฐี

        
            เศรษฐีพยายามฆ่าเด็กถึง ๔ ครั้ง แต่เด็กไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ต่อมาจนเป็นหนุ่ม เศรษฐีมองดูเด็กนั้นครั้งใด หน้าของเด็กนั้นเหมือนกับหนามแทงตาแทงใจ ดังพระพุทธพจน์ว่า อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข การได้ประสบกับบุคคลไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ สุดท้ายเศรษฐี จึงวางแผนฆ่าด้วยการส่งเด็กไปยังบ้านของนายช่างหม้อเพื่อนตนเอง เขียนหนังสือให้เด็กถือไป มีข้อความว่า ให้ฆ่าเด็กคนนี้แล้วเผาทิ้งเสีย เพราะเด็กไม่รู้หนังสือ จึงรับคำของบิดา เดินทางออกจากบ้านมุ่งหน้าไปยังบ้านของนายช่างหม้อ บังเอิญไปพบกับบุตรชายแท้ ๆ ของเศรษฐี กำลังเล่นอยู่กับเพื่อน ๆ และพ่ายแพ้มาตลอด จึงรบเร้าให้พี่ชายเล่นแทน และขออาสาเอา จดหมายของพ่อไปให้นายช่างหม้อแทน จึงถูกนายช่างหม้อฆ่าตาย นายช่างเผาทำลายหลักฐาน ตามคำสั่งของเศรษฐีแล้ว ส่งข่าวไปให้ทราบว่า งานที่สั่งให้ทำ ได้จัดการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครั้นตกเย็น เด็กหนุ่มกลับมาบ้าน พอเศรษฐีเห็นหน้าเขาเท่านั้น ก็รู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น เสียใจอย่างหนัก ถึงกับอาเจียนออกมาเป็นเลือด และถึงแก่ความตายในที่สุด สมกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้
ประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้ไม่มีความผิด ย่อมประสบความทุกข์ ๑๐ ประการ คือ

๑.   ต้องเจ็บปวดอย่างหนัก ยากรักษา
๒.   ทรัพย์โภคา เสื่อมถอย ค่อยหดหาย
๓.   อวัยวะ แตกหัก จากร่างกาย
๔.   โรคร้าย เกาะเกี่ยว สุดเยียวยา
๕.   เกิดโรค ทางจิต คิดฟุ้งซ่าน
๖.    มีการ อื้อฉาว ถูกกล่าวหา
๗.   อุปสรรค มากมี เข้าบีฑา
๘.   ญาติกา ที่รัก ต้องจากไป
๙.   ทรัพย์สิน ย่อยยับ อย่างฉับพลัน
ข้อ ๑๐ นั้น  บ้านเรือน ถูกไฟไหม้ ใน ๑๐ ข้อ ไม่ข้อหนึ่งก็ข้อใด เป็นต้องได้ ประสบ พบแน่นอน
ความพยาบาทปองร้าย เป็นเหตุนำทุกข์ภยันตรายมาสู่ตนและคนอื่น ดังกล่าวมา ฉะนั้น จึงควรมีเมตตากรุณา รักใคร่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีกว่า เพื่อให้โลกของเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพึ่งพาอาศัยกันได้ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อภิชฌา

           เจตนาเป็นเหตุละโมบ ในเมื่อเห็นสิ่งของ ๆ ผู้อื่นแล้ว เพ่งเล็ง โดยน้อมเข้ามาหาตนว่า ทำอย่างไรหนอ ? ของนี้จะพึงเป็นของเรา ชื่อว่า อภิชฌา ที่ถึงความเป็นกรรมบถ แต่ถ้าเห็นสมบัติของคนอื่นแล้ว ไม่คิดเอามาเป็นของตน เพียงแต่ยินดีว่า ผู้ใช้สอยสมบัติเช่นนี้มีบุญหนอ เราควรได้ใช้สอยสักชั่วคราว หรือว่า เราควรได้รับของเช่นเดียวกันนี้ อย่างนี้ เป็นเพียงกรรมเท่านั้น ไม่ถึงกรรมบถ สมกับคำของ      พระอรรถกถาจารย์ว่า แม้ความโลภจะเกิดขึ้นในสมบัติของผู้อื่น ก็ยังไม่จัดเป็นกรรมบถ ตลอดเวลาที่ยังไม่น้อมเข้ามาเป็นของตนว่า ไฉนหนอ ? ของนี้พึงเป็นของเรา

อภิชฌา จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ

๑. สิ่งของ ของบุคคลอื่น
๒. การน้อมมาเพื่อเป็นของตน


อภิชฌานั้นมีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ

๑. สิ่งของที่เพ่งเล็งมีค่ามาก
๒. เจ้าของมีคุณมาก
๓. ผู้เพ่งเล็งมีกิเลสแรงกล้า


อารมณ์ภายนอกเป็นเหตุเกิดอภิชฌาได้
ดังนิทานเรื่องนี้เป็นต้น
          มีเศรษฐีใหม่คนหนึ่ง ได้รับมรดกหลังจากบิดามารดาถึงแก่กรรม ผู้รักษาเรือนคลังของเศรษฐีนั้น ได้เปิดห้องสำหรับเก็บทรัพย์แจ้งจำนวนให้ทราบว่า ทรัพย์ของบรรพบุรุษ มีปู่เป็นต้น มีจำนวนเท่านี้ ของบิดาท่านมีจำนวนเท่านี้ เศรษฐีใหม่ดูทรัพย์เหล่านั้นแล้ว ถามว่า ทำไม บรรพบุรุษของเรา จึงไม่นำเอาทรัพย์เหล่านี้ไปด้วย ? ผู้รักษาเรือนคลังตอบว่า เจ้านาย ไม่มีใครสามารถถือเอาทรัพย์ไปปรโลกได้หรอก สัตว์ทั้งหลายพาเอาไปได้แต่บุญกับบาปที่ตนทำไว้เท่านั้น
เศรษฐีใหม่คิดว่า บรรพบุรุษของเรา สะสมทรัพย์สินเงินทองเอาไว้มากมายมหาศาล ที่สุดก็ทิ้งเอาไว้ให้คนอื่น เพราะความโง่แท้ ๆ ส่วนเราจะเอาทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นไปให้หมด จึงสั่งให้สร้างคฤหาสน์หรูราคาแพง สร้างปะรำสำหรับรับประทานอาหาร เพื่อประกาศความร่ำรวย ให้ชาวเมืองได้เห็น  
การรับประทานอาหารแต่ละมื้อใช้จ่ายมาก มีทั้งอาหาร สาวงามคอยปรนนิบัติขับกล่อม โดยเฉพาะในวันเพ็ญ ได้จ่ายทรัพย์เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นค่าอาหาร จ้างคนไปประกาศให้ชาวเมืองมาดูการรับประทานอาหารของตน ประชาชนได้พากันมาดูเป็นจำนวนมาก

ในที่นั้น มีคนยากจน ๒ คน เป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งอยู่ในเมือง คนหนึ่งอยู่บ้านนอก มีอาชีพหาฟืนขาย พอเศรษฐีเปิดภาชนะบรรจุอาหาร กลิ่นของอาหารหอมฟุ้งตลบไปทั่ว จนชาวบ้านนอกคนนั้น เกิดความอยากจะรับประทาน อดใจไว้ไม่อยู่ เพราะตั้งแต่เกิดมา อย่าว่าแต่ได้รับประทานเลย แม้แต่กลิ่นอย่างนี้ ก็ไม่เคยได้รับ จึงบอกแก่เพื่อนว่า เพื่อนเอ๋ย เราอยากกินอาหารนั้นเหลือเกิน เพื่อนจึงตอบว่า อย่าปรารถนาเลยเพื่อน เราทำงานไปตลอดชีวิต ก็ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารอย่างนี้ เขาขอร้องว่า เพื่อนเอ๋ย ถ้าไม่ได้กินอาหารนี้ต้องตายแน่ เมื่อไม่สามารถห้ามได้ จึงตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า นายครับ ผมไหว้ท่าน ขออาหารในถาดให้เพื่อนผมกินสักคำเถิด เศรษฐีตอบว่า ไม่ได้ จึงหันมาถามเพื่อนว่า ท่านได้ยินเศรษฐีพูดไหม ? เขาตอบว่า ได้ยินแล้ว แต่ก็ยังยืนยันว่า ถ้าไม่ได้รับประทานอาหารนี้ ต้องตายแน่ ท่านขอรับ เพื่อนของผมบอกว่า ถ้าเขาไม่ได้อาหาร ชีวิตของเขาต้องตายแน่นอน เขาจึงบอกเศรษฐีอีกว่า โปรดให้ชีวิตแก่เขาเถิด ได้รับคำตอบว่า อาหารนี้ราคาแพงมาก ถ้าคนอื่นมาอ้างเหมือนเพื่อนของแก ฉันจะเอาที่ไหนมาให้ ถ้าเพื่อนของแกอยากจะกินอาหารจานนี้จริง ๆ ต้องทำงานในบ้านฉัน ๓ ปี ในที่สุดชาวบ้านนอกคนนั้น ก็ยอมทิ้งครอบครัว มาทำงานในบ้านเศรษฐี ๓ ปี เพื่อแลกข้าวจานเดียว
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้อย่างรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากสิ่งล่อใจภายนอก ชาวบ้านนอกคนนั้น มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยความอดอยากยากจนมานานแล้ว เมื่อไม่ได้เห็นความหรูหรา ไม่ได้ลิ้มรสอาหารดี ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อได้มาเห็นความหรูหรา และได้กลิ่นอาหารดี ๆ ของเศรษฐี จึงเกิดความอยากได้อย่างรุนแรง ถึงกับเอาชีวิตเข้าแลก สมกับคำที่นักปราชญ์สอนเอาไว้ว่า ระหว่างอารมณ์กับยาพิษ อารมณ์มีพิษร้ายแรงกว่ายาพิษ เพราะยาพิษต้องกินเข้าไปมันถึงจะฆ่าชีวิตได้ แต่อารมณ์แค่คิดถึงก็ทำให้คนเราถึงตายได้ ดังนั้น คนเราจะทำอะไรก็ตาม ควรคิดถึงจิตใจของคนอื่นบ้าง อย่าเอาทรัพย์สมบัติ หรือสังขารร่างกายของเราไปอวดสาธารณชน จนคนอื่นเกิดความอยากได้อย่างรุนแรง เป็นเหตุนำภัยอันตรายมาสู่ตัวเองได้...